Home
Online Learning
โทร 02 669 3254 - 63 |
Sitemap
|
สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย
CO-OPERATIVE LEAGUE OF THAILAND
เมนู
สันนิบาตสหกรณ์
ประวัติสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย
ทำเนียบผู้บริหารสันนิบาตแห่งประเทศไทย
วิวัฒนาการสหกรณ์ไทย
วิสัยทัศน์ และพันธกิจ
นโยบายการดำเนินการ
ภารกิจและหน้าที่
แผนพัฒนาสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย
ระเบียบสันนิบาตสหกรณ์ฯ ว่าด้วยสันนิบาตจังหวัด
แผนที่ สสท.
สารสนเทศ สำหรับผู้บริหาร สสท.
โครงสร้างองค์กร
โครงสร้างองค์กร
โครงสร้างผู้บริหาร
คณะอนุกรรมการพัฒนาสหกรณ์
คณะอนุกรรมการส่งเสริมสหกรณ์
คณะอนุกรรมการบริหาร
คณะกรรมการดำเนินการฯ
ที่ปรึกษาสันนิบาตสหกรณ์
หน่วยงานภายใน
ผู้อำนวยการ
สายงานบริหาร
สายงานส่งเสริม
สถาบันพิทยาลงกรณ์
ฝ่ายตรวจสอบภายใน
เกี่ยวกับสหกรณ์
ประวัติพระบิดา
ประวัติการสหกรณ์ในประเทศไทย
ความหมายของสหกรณ์
ประเภทสหกรณ์
อุดมการ และ หลักการ
ขั้นตอนการจัดตั้งสหกรณ์
พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 ฉบับที่ 2 พ.ศ 2553
และฉบับที่ 3 พ.ศ 2562 (ฉบับสมบูณณ์)
สารสนเทศสหกรณ์
ผลิตภัณฑ์สหกรณ์
ติดต่อเรา
ข่าวประชาสัมพันธ์
หน้าแรก
ข่าวประชาสัมพันธ์
ผมว่า...รัฐควรใช้สหกรณ์เป็นเครื่องมือหลักในการพัฒนาประเทศ (ตอนที่ 2)
โดย นายกมลศักดิ์ นันตา
วันที่ 11 มี.ค. 2564 เวลา 15:39 น.
260
ผมว่า...รัฐควรใช้สหกรณ์
เป็นเครื่องมือหลักในการพัฒนาประเทศ
ตอนที่ 2
:
สหกรณ์คืออะไรกันแน่
โดย... รังสรรค์ ปิติปัญญา
ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาควิชาสหกรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
และ รองประธานสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำกัด
เกริ่นกันก่อน
ผมได้เสนอไว้ในตอนที่แล้วว่าเครื่องมืออย่างหนึ่งที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาประชาชนให้มีความเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว คือ "สหกรณ์" หลายคนคงมีคำถามในใจว่า “สหกรณ์คืออะไรกันแน่? และ จะมีศักยภาพในการพัฒนาประชาชนจริงหรือ?” ในระยะที่ผ่านมามีแต่ข่าวไม่ค่อยดีให้ได้ยินบ่อยมาก จนบางคนแอบ “ยี้” กับข้อเสนอของผม อย่างไรก็ตามขอให้ใจเย็นๆ และลองเปิดใจรับรู้กันหน่อยว่าสหกรณ์คืออะไร มีระบบการบริหารจัดการอย่างไร มีวิธีในการดำเนินการอย่างไร และ ผลที่เกิดจากการทำงานแบบสหกรณ์เป็นอย่างไร .... แล้วค่อยบอกว่าเห็นด้วยกับผมหรือไม่?
สหกรณ์คืออะไร
ก่อนอื่นต้องเรียนท่านผู้อ่านว่าบทความนี้ไม่ได้เน้นที่การอธิบายถึงหลักการสหกรณ์ 7 ข้อ ที่ประกอบด้วยการเปิดรับสมาชิกโดยทั่วไปและด้วยความสมัครใจ การควบคุมโดยสมาชิกตามหลักประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจโดยสมาชิก การปกครองตนเองและความเป็นอิสระ การให้การศึกษาอบรม การร่วมมือกันระหว่างสหกรณ์ และ ความเอื้ออาทรต่อชุมชน แต่จะเน้นที่การเล่าเรื่องเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจความเป็นสหกรณ์ โดยจะเริ่มจากนิยาม ระบบการบริหาร สินค้าและบริการ และ ประโยชน์ของสหกรณ์
นิยามของสหกรณ์
มีคนให้ความหมายเกี่ยวกับสหกรณ์ไว้หลากหลาย แต่สรุปง่ายๆ ว่า เป็น
“องค์กรธุรกิจรูปพิเศษ ตั้งขึ้นโดยกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาหรือความต้องการอย่างเดียวกัน ดำเนินการโดยยึดหลักการพึ่งตนเอง การร่วมมือและช่วยเหลือกัน ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน และความสมัครใจ โดยสหกรณ์จะทำหน้าที่จัดหาสินค้าและหรือบริการที่ดีกว่า (คุณภาพดีกว่า ถูกกว่า หรือได้รับประโยชน์มากกว่า) มาให้บริการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มบุคคลดังกล่าว (สมาชิก) ให้ดีขึ้น”
ระบบการบริหารสหกรณ์
เนื่องจากสมาชิก (เจ้าของ) ของแต่ละสหกรณ์มีจำนวนมาก ถ้าทุกคนเข้ามาบริหารงานเองโดยตรงคงเกิดความสับสนวุ่นวายและไม่มีประสิทธิภาพ จึงกำหนดให้มีการเลือกตั้งตัวแทนจำนวนไม่เกิน 15 คน เรียกว่าคณะกรรมการเข้ามาบริหารงานแทน อย่างไรก็ตามเนื่องจากกรรมการเองก็มีภาระงานหรืออาชีพของตนเองไม่สามารถทำหน้าที่ให้บริการแก่สมาชิก (ลูกค้า) หรือทำงานประจำวันของสหกรณ์ได้ จึงต้องจ้างบุคคลอื่น (ฝ่ายจัดการ) เข้ามาทำหน้าที่แทน ทั้งนี้ฝ่ายจัดการต้องรายงานผลการดำเนินงานให้คณะกรรมการทราบอย่างสม่ำเสมอ ในขณะเดียวกันหากสมาชิกได้รับบริการไม่ดี ก็จะสื่อสารถึงกรรมการผ่านช่องทางต่างๆ ซึ่งจะถูกนำมาใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงการบริการต่อไป
สินค้าและบริการของสหกรณ์
สินค้าและบริการของสหกรณ์มีอะไรบ้างขึ้นอยู่กับความต้องการของสมาชิก และ ประเภทของสหกรณ์ ปัจจุบันสหกรณ์ในเมืองไทยถูกแบ่งอย่างชัดเจนเป็น 7 ประเภท ได้แก่ สหกรณ์การเกษตร นิคม ประมง ร้านค้า ออมทรัพย์ บริการ และ เครดิตยูเนี่ยน อย่างไรก็ตามก็เปิดโอกาสให้มีการตั้งสหกรณ์ประเภทใหม่ๆ เอาไว้ด้วยโดยระบุไว้เป็นประเภทที่ 8 คืออื่นๆ สำหรับใน 3 ประเภทแรก รวมถึงสหกรณ์บริการ และ เครดิตยูเนี่ยน เป็นกลุ่มที่ทำธุรกิจได้หลายอย่าง ทั้งธุรกิจด้านการเงิน (รับฝากและให้กู้ยืม) และ ด้านอื่นที่ไม่ใช่การเงิน (จัดหาของมาจำหน่าย รวบรวมผลผลิตจากสมาชิก และให้บริการอื่นๆ ที่สมาชิกต้องการ) ส่วนสหกรณ์ร้านค้า และ ออมทรัพย์ เป็นกลุ่มที่เน้นการทำธุรกิจเฉพาะด้าน สหกรณ์ร้านค้าเน้นการจัดหาสินค้าอุปโภคบริโภคมาจำหน่ายให้กับสมาชิก ส่วนสหกรณ์ออมทรัพย์เน้นหนักไปที่การทำธุรกิจการเงิน้นหนักไปที่การทสมาชิก ส่วนสหกรปบ้างขึ้นอยสมาชิก ถ้าสมาชิกได้รับบริการไม่ดี กโดยเฉพาะการส่งเสริมการออม และ การให้สินเชื่อ
ประโยชน์ที่แท้จริงของสหกรณ์
คุณประโยชน์ที่แท้จริงของสหกรณ์คือ “ทำให้อำนาจการต่อรองเพิ่มขึ้น” โดยธรรมชาติ ทุกคนมีอำนาจต่อรองอยู่ในตัวอยู่แล้ว แต่ระดับที่มีอยู่นั้นแตกต่างกันตามฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และ ขนาดของกิจกรรมที่ดำเนินการอยู่ (ระดับความน่าเชื่อถือ) ตัวอย่างเช่น แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมจะมีระดับความน่าเชื่อถือและอำนาจต่อรองต่ำกว่าเจ้าของกิจการที่ส่วนใหญ่มีฐานะดีกว่า
เมื่อคนที่มีอำนาจการต่อรองต่ำมารวมตัวและร่วมมือกันอย่างจริงจังผ่านสหกรณ์ มีผลทำให้อำนาจการต่อรองเพิ่มขึ้น และการเพิ่มของอำนาจต่อรองนั้นไม่ได้เพิ่มเป็นสัดส่วนแบบเลขคณิต หรือ แบบ 1 + 1 = 2 แต่จะเพิ่มในอัตราที่เร็วกว่า เมื่อมีคนเข้ามาร่วมกับสหกรณ์มากขึ้นอำนาจต่อรองของสหกรณ์ซึ่งเป็นตัวแทนของสมาชิกทุกคนจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และ สังคม (รวมถึงการเมืองด้วย) ทำให้สหกรณ์สามารถต่อรองให้เกิดความเป็นธรรมและประโยชน์ต่อสมาชิกได้มากขึ้น
วิธีดำเนินกิจการของสหกรณ์และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อสมาชิก
การทำงานของสหกรณ์เริ่มจากคนที่มีปัญหาและหรือมีความอ่อนแอทางเศรษฐกิจมาลงทุนร่วมกันคนละเล็กละน้อย ค่อยๆ
สะสมทุน
* ให้มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีทุนมากพอหรือได้รับความเชื่อถือมากขึ้นก็จะเริ่มดำเนินธุรกิจโดยอาศัยอำนาจการต่อรองที่เพิ่มขึ้น ทำให้สามารถซื้อสินค้า (รวมถึงสินเชื่อ) มาจำหน่ายได้ในราคาที่ต่ำลง สามารถหาตลาดจำหน่ายสินค้าได้ง่ายและมีเงื่อนไขการจำหน่ายที่ดีขึ้นได้ รวมถึงมีโอกาสต่อรองขอความช่วยเหลือจากส่วนราชการต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
*สหกรณ์แต่ละประเภทมีวิธีการสะสมทุนที่อาจเหมือนหรือต่างกันก็ได้ เช่นสหกรณ์การเกษตรที่เริ่มต้นโดยสมาชิกถือหุ้นแรกเข้า หลังจากนั้นกำหนดให้มีการเพิ่มหุ้นตามการใช้บริการเงินกู้ ส่วนสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน กำหนดให้มีการเพิ่มหุ้นเป็นประจำทุกเดือนตามที่มีการตกลงกันไว้ ส่วนการเพิ่มหุ้นนอกเหนือจากนั้นก็สามารถทำได้ตามกติกาของแต่ละสหกรณ์ นอกจากนั้นทุกครั้งที่สหกรณ์มีกำไร ส่วนหนึ่งจะถูกจัดสรรเป็นทุนของสหกรณ์ด้วย (ทุนสำรองและทุนอื่น)
อย่างไรก็ตาม ในการทำธุรกิจย่อมมีต้นทุนในการดำเนินงาน ซึ่งหลายรายการไม่สามารถกำหนดได้ชัดเจนในขณะที่ทำธุรกิจ ดังนั้นสหกรณ์จึงกำหนดราคาขายไว้สูงกว่าต้นทุนสินค้าและบริการ เผื่อไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน แต่โดยหลักการแล้วราคาที่กำหนดนี้ต้องไม่สูงกว่าราคาสินค้าและบริการอย่างเดียวกันที่ขายในท้องตลาด
เมื่อสิ้นปีทางบัญชี ก็จะปิดบัญชีสรุปรายได้ รายจ่าย หากมีกำไร ก็จะถูกจัดสรรให้กับฝ่ายต่างๆ ตามมติของที่ประชุมใหญ่สมาชิก (ในฐานะเจ้าของ) ซึ่งทุกคนมีสิทธิ์ออกเสียงเท่ากัน โดยจัดสรรเป็นทุนสำรองของสหกรณ์ (เพื่อความมั่นคงก้าวหน้าของกิจการ) เป็นเงินปันผล (ตอบแทนแก่หุ้น) เป็นเงินโบนัสกรรมการและเจ้าหน้าที่ (ตอบแทนแก่ผู้ทำงาน) เป็นทุนสวัสดิการต่างๆ (เพื่อส่งเสริมสวัสดิการของสมาชิก) เป็นทุนเพื่อการศึกษาอบรมและทุนสาธารณประโยชน์ (เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของขบวนการสหกรณ์และสังคม) และ เป็นทุนอื่นๆ ที่ที่ประชุมใหญ่เห็นความจำเป็น จากนั้น หากยังมีกำไรเหลืออยู่อีก ให้คืนให้แก่สมาชิก (ในฐานะลูกค้า) อย่างยุติธรรม ตามสัดส่วนแห่งการทำธุรกิจหรือการจ่ายเกิน สุดท้ายจึงไม่มีกำไรสุทธิเหลืออยู่ที่สหกรณ์ หรือกล่าวได้
“สหกรณ์เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร (
non-profit organization)”
ยิ่งกว่านั้น ถ้ามองว่าเงินเฉลี่ยคืนคือส่วนลดการค้าก็มีความหมายว่าราคาสินค้า/บริการสุทธิที่สมาชิกจ่ายนั้นจะลดลงไปอีก (ราคาสุทธิ คือ ราคาที่จ่าย-เงินเฉลี่ยคืน) ทั้งนี้กฎหมายได้กำหนดแนวทางการจัดสรรกำไรที่กล่าวถึงข้างต้นไว้อย่างชัดเจน
เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ขอยกตัวอย่างกรณีของสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบการ (เป็นสหกรณ์ของพนักงานบริษัท) เมื่อยังไม่มีการรวมตัวกันตั้งสหกรณ์ คนที่มีรายได้ไม่พอใช้ส่วนใหญ่จะเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ในระบบเนื่องจากเครดิตไม่ดี จำเป็นต้องกู้เงินจากแหล่งนอกระบบ ที่คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงกว่าแหล่งในระบบมาก เท่าที่รู้คือประมาณร้อยละ 20 ต่อเดือน หรือ 240 ต่อปี (เคยมีข่าวว่าบางคนต้องเสียดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 60 ต่อเดือน) ในขณะที่คนที่มีเงินเหลือ เอาเงินไปฝากธนาคารจะได้รับดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำมาก เช่น น้อยกว่าร้อยละ 0.5 ต่อปี และไม่รู้ว่าธนาคารเอาเงินออมของตนไปให้ใครกู้ต่อ (น่าจะไม่ใช่คนยากจน) สถานการณ์เช่นนี้ไม่เป็นผลดีทั้งต่อคนที่ต้องการกู้เงินและคนที่ต้องการฝากเงิน
สมมุติว่าคนในสถานประกอบการรวมตัวกันตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ขึ้นมา โดยทุกคนออมเงินกับสหกรณ์อย่างสม่ำเสมอทุกเดือนในรูปของหุ้น (การออมภาคบังคับและไม่สามารถถอนได้จนกว่าจะออกจากการเป็นสมาชิก) และหากสมาชิกคนใดมีเงินเหลืออยู่อีกก็สามารถออมเพิ่มได้ทั้งในรูปของหุ้นหรือในรูปของเงินฝาก (สามารถถอนคืนได้ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้) ด้วยระบบการออมที่สม่ำเสมอ ทำให้เงินทุนของสหกรณ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เงินที่ได้จากการออมนี้สหกรณ์จะนำมาให้สมาชิกที่มีความเดือดร้อนทางการเงินกู้ยืมไปใช้ประโยชน์ โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าแหล่งนอกระบบมาก เช่น ร้อยละ 1 ต่อเดือน (หลายสหกรณ์คิดดอกเบี้ยต่ำกว่านี้มาก)
อย่างไรก็ตามเป็นธรรมดาที่ในระยะแรกๆ ของการดำเนินกิจการ สหกรณ์ยังไม่เข้มแข็ง เงินที่ได้จากการออมมักไม่เพียงพอกับการให้เงินกู้แก่สมาชิก จำเป็นต้องกู้เงินจากภายนอกเพิ่มเติม (เป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจ) ซึ่งการกู้ยืมในนามของสหกรณ์ทำให้มีโอกาสได้รับเงินกู้มากขึ้น และเสียดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าการกู้โดยแต่ละคน และเมื่อดำเนินการครบรอบปีทางบัญชีจะมีการปิดบัญชีสรุปรายได้ รายจ่าย และกำไร (ขาดทุน) หากมีกำไรก็จะจัดสรรไปยังฝ่ายต่างๆตามที่ได้กล่าวถึงแล้ว
ตัวอย่างข้างต้นชี้ว่า “ความเป็นสหกรณ์” ทำให้มีอำนาจต่อรองมากขึ้น สามารถเข้าถึงแหล่งทุนที่มีเงื่อนไขการให้กู้ดีกว่าเดิม สมาชิกในฐานะผู้กู้เสียดอกเบี้ยลดลง (และยังได้เฉลี่ยคืนเมื่อสหกรณ์มีกำไรด้วย) ในขณะที่สมาชิกในฐานะผู้ออม (ออมหุ้นและเงินฝาก) ได้รับผลตอบแทนมากขึ้น ไปพร้อมๆ กับเงินออมของแต่ละคนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเงินออมนี้จะเป็นแหล่งทุนสำคัญสำหรับการพึ่งตนเองของสมาชิกในอนาคต
ประโยชน์อื่นที่เกิดจากการดำเนินกิจการแบบสหกรณ์
นอกจากประโยชน์ทางเศรษฐกิจแล้ว สหกรณ์ยังสร้างประโยชน์ด้านอื่นๆ ให้กับสมาชิกและสังคมโดยรวมอีกด้วย ที่สำคัญ ได้แก่
จัดสวัสดิการให้แก่สมาชิก
:
สหกรณ์หลายแห่งสร้างระบบสวัสดิการให้ความช่วยเหลือแก่สมาชิกตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น ให้ทุนการศีกษาสมาชิกและบุตร ช่วยค่ารักษาพยาบาล จ่ายเงินสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุ เป็นต้น และที่น่าสนใจคือบางสหกรณ์กำลังคิดพัฒนาระบบบำนาญสมาชิกด้วย ซึ่งเชื่อว่าอีกไม่นานเราคงได้เห็นเรื่องนี้เกิดขึ้นจริง
พัฒนาคุณภาพของคน
:
แนวคิดที่สำคัญของสหกรณ์คือการพึ่งพาตัวเอง การร่วมมือ และการช่วยเหลือกัน ซึ่งวิธีการทำงานตามแนวคิดนี้ช่วยพัฒนาสมาชิกให้เป็นคนสู้งานสู้ชีวิต และ พยายามพึ่งตนเองก่อนที่จะไปพึ่งคนอื่น ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับคนอื่น และพร้อม (มีน้ำใจ) ที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่น
ในส่วนของการบริหารจัดการซึ่งยึดหลักการมีส่วนร่วม และ ความเป็นประชาธิปไตย ทำให้สมาชิกมีความเข้าใจในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย กล้าแสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผล มีความอดทนในการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง และพร้อมยอมรับมติของที่ประชุม ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของคนในระบอบประชาธิปไตย
นอกจากนั้นสหกรณ์ยังสอนและเปิดโอกาสให้สมาชิกได้เรียนรู้วิธีการบริหารจัดการธุรกิจเพื่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้โดยทั่วไป ผู้มาเป็นสมาชิกของสหกรณ์เป็นผู้ที่ยากจน ขาดโอกาสในการเรียนรู้ โดยเฉพาะการทำธุรกิจอย่างเป็นระบบ ซึ่งสหกรณ์เปิดโอกาสให้คนเหล่านี้ได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง
เอื้ออาทรต่อสังคม
: สหกรณ์มีหลักการสำคัญประการหนึ่งเกี่ยวกับการพัฒนาสังคมส่วนรวม คือ
“เอื้ออาทรต่อชุมชน”
และเพื่อให้สหกรณ์สามารถดำเนินการตามหลักการนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรมสหกรณ์เกือบทั้งหมดจะตั้ง “ทุนสาธารณประโยชน์” เพื่อเตรียมไว้ทำกิจกรรมสาธารณะและประโยชน์แก่สังคมส่วนรวม
จากการติดตามการดำเนินงานของขบวนการสหกรณ์มาอย่างต่อเนื่อง พบว่าแม้จะมีปัญหาเกิดขึ้นบ้างในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่ขบวนการสหกรณ์ก็ยังมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีส่วนทำให้สมาชิก (ในฐานะประชาชนของประเทศ) จำนวนมากลืมตาอ้าปากได้ หลุดพ้นจากปัญหาหนี้สิน (หนี้สินที่เกินกว่าความสามารถในการชำระ) และ หลุดพ้นจากการเป็นหนี้สิน (ไม่มีหนี้สิน) รวมถึงมีบ้านและทรัพย์สินอื่นๆ เป็นของตนเอง หรืออาจกล่าวได้ว่า
“สามารถพึ่งตัวเองได้”
รวมถึงยังช่วยปลูกฝังความคิดในเรื่องของการพึ่งตนเอง ช่วยเหลือส่วนรวม และ ความมีระเบียบวินัย ให้เกิดขึ้นแก่สมาชิก ซึ่งเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศชาติ
ส่งท้ายก่อนจาก
ที่เล่ามา คงทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจถึงความเป็นสหกรณ์ได้บ้างไม่มากก็น้อย และเห็นถึงศักยภาพที่จะเป็นเครื่องมือพัฒนาประเทศ อย่างไรก็ดี มีคำถามตามมาว่า
“เมื่อเป็นของดีแล้วทำไมภาครัฐถึงไม่ค่อยจะเห็นคุณค่ามากนัก?”
นอกจากไม่ใช้ประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็นแล้วหลายครั้งยังแสดงออกผ่านมาตรการต่างๆ เหมือนกับจะไม่สนับสนุนให้ขบวนการสหกรณ์เจริญเติบโตและเข้มแข็งมากไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอีกด้วย สำหรับประเด็นนี้จะได้พูดคุยกันในตอนต่อไป... สวัสดีครับ
กิจกรรมล่าล่าสุด
11 มี.ค. 64
แจ้งเลื่อนการฝึกอบรม / สัมมนา เดือนเมษายน 2564
402 ครั้ง
11 มี.ค. 64
ประชุมคณะอนุกรรมการบริหาร ครั้งที่ 7/2564
42 ครั้ง
11 มี.ค. 64
ประชุมหารือผลกระทบการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน
70 ครั้ง
11 มี.ค. 64
สสท.ร่วมกับ สสจ.เพชรบุรี ประชุมหารือแนวทางการจัดโครงการมหกรรมสินค้าสหกรณ์สู่ผู้บริโภค
35 ครั้ง
11 มี.ค. 64
ปิดโครงการฝึกอบรม “การเงิน การบัญชี และการบริหารสำหรับกรรมการดำเนินการ และผู้จัดการสหกรณ์” รุ่นที่ 1
74 ครั้ง
ดูทั้งหมด