Home
โทร 02 669 3254 - 63 |
Sitemap
|
สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย
CO-OPERATIVE LEAGUE OF THAILAND
เมนู
สันนิบาตสหกรณ์ฯ
ประวัติสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย
ทำเนียบผู้บริหารสันนิบาตแห่งประเทศไทย
วิสัยทัศน์ และพันธกิจ
นโยบายการดำเนินการ
อำนาจหน้าที่
แผนพัฒนาสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย
ระเบียบสันนิบาตสหกรณ์ฯ ว่าด้วยสันนิบาตจังหวัด
แผนที่ สสท.
ระบบงาน สันนิบาตสหกรณ์ฯ
โครงสร้างองค์กร
โครงสร้างองค์กร
โครงสร้างผู้บริหาร
คณะกรรมการดำเนินการฯ ชุดที่ 26
หน่วยงานภายใน
ผู้อำนวยการ
สายงานบริหาร
สายงานส่งเสริมสหกรณ์
สายงานพัฒนาธุรกิจ
สถาบันพิทยาลงกรณ์
สำนักที่ปรึกษาและช่วยเหลือสหกรณ์ทางกฎหมาย
ฝ่ายตรวจสอบภายใน
เกี่ยวกับสหกรณ์
ประวัติพระบิดา
วิวัฒนาการสหกรณ์ไทย
ประเภทสหกรณ์
หลักการณ์ อุดมการณ์ และวิธีการสหกรณ์
ขั้นตอนการจัดตั้งสหกรณ์
พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 (ฉบับสมบูรณ์)
สารสนเทศสหกรณ์
ผลิตภัณฑ์สหกรณ์
ติดต่อเรา
ข่าวประชาสัมพันธ์
หน้าแรก
ข่าวประชาสัมพันธ์
สหกรณ์ออมทรัพย์: “นักบุญ” หรือ “คนบาป” ของสังคมไทย?
โดย นายกมลศักดิ์ นันตา
วันที่ 11 ม.ค. 2564 เวลา 09:19 น.
1130
สหกรณ์ออมทรัพย์: “นักบุญ”
หรือ “คนบาป” ของสังคมไทย?
โดย... ผศ.ดร. รังสรรค์ ปิติปัญญา
ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาควิชาสหกรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
และ รองประธานสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำกัด
เกริ่นกันก่อน
ในระยะหลังๆ มีการกล่าวถึงปัญหาหนี้สินของคนไทยว่าทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และพบว่าเจ้าหนี้รายใหญ่ของคนบางกลุ่มคือสหกรณ์ออมทรัพย์ จึงเป็นที่มาของการกล่าวถึงสหกรณ์ออมทรัพย์ในเชิงลบว่าเป็นสาเหตุหรือตัวสร้างหรือทำให้ปัญหาหนี้สินในสังคมไทยรุนแรงขึ้น (จนรัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง และ ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องกระโดดเข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญในการจัดการกับสหกรณ์*) หรือหากเปรียบเป็นคน วันนี้บางคนอาจมองว่าสหกรณ์ออมทรัพย์เป็น “คนบาป” ของสังคมไทย ... การมองแบบนี้ถูกต้องหรือไม่คงต้องมาพิจารณากัน
(*โดยหลักแล้ว สหกรณ์เป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้การส่งเสริมและกำกับดูแลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
พัฒนาการ (บางส่วน) ของหนี้สิน
เพื่อให้เข้าใจเรื่องนี้ชัดเจนขึ้น ผมขอเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจถึงความเป็นมาของหนี้สินก่อน ทั้งนี้สังคมไทยในอดีตเป็นสังคมที่ไม่ซับซ้อนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ค่อนข้างสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการติดต่อกับต่างประเทศและนำเอาแนวคิดแบบทุนนิยม* มาใช้
(*แนวคิดแบบทุนนิยม เน้นการแบ่งงานกันทำและการรวมศูนย์การผลิต จากนั้นนำเอาผลผลิตมาแลกเปลี่ยนซื้อขายกันโดยมีเงินตรา องค์กรธุรกิจ และ ตลาดเป็นสื่อกลาง ทุกคนในสังคมมีอิสระในการผลิตและการบริโภค ผู้ผลิตทำการผลิตเพื่อหวังกำไรสูงสุด ผู้บริโภคบริโภคเพื่อให้ได้ความพอใจสูงสุด และเชื่อมั่นว่าการแข่งขันจะนำมาซึ่งประสิทธิภาพและความเจริญรุ่งเรือง)
ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็ทำให้สังคมไทยต้องเผชิญปัญหาอย่างรุนแรง กลายเป็นสังคมที่อ่อนแอพึ่งพาตนเองไม่ได้ เมื่อเป้าหมายการผลิตเปลี่ยนไปจากเดิมที่เน้นการเลี้ยงตนเองไปเป็นเพื่อขาย การผลิตต้องคำนึงถึงความต้องการของตลาดหรือผู้ซื้อเป็นหลัก และเพื่อให้ได้รายได้มากที่สุดการผลิตจึงเน้นการผลิตสินค้าเฉพาะอย่างและเป็นการผลิตขนาดใหญ่ มีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างมากมาย พร้อมๆ กับการนำเทคโนโลยีจากภายนอกเข้ามาใช้ ต้องการเงินทุนมากขึ้น ใครไม่มีเงินทุนของตนเองก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาลงทุน โดยหวังว่าเมื่อได้ผลผลิตแล้วก็จะจำหน่ายสู่ตลาดได้เงินกลับมาใช้คืนหนี้สินดังกล่าว รวมถึงนำมาใช้จ่ายซื้อเครื่องอุปโภคบริโภค และลงทุนต่อไป อย่างไรก็ตามบ่อยครั้งที่การผลิตเกิดความเสียหาย หรือไม่สามารถจำหน่ายผลผลิตได้ตามที่คาดหวังเนื่องจากผลผลิตล้นตลาด ทำให้เกิดปัญหาหนี้สิน การสูญเสียที่ดินทำกิน และเกิดความยากจนตามมา
ในด้านการบริโภค พบว่าสินค้าที่คนในชุมชนบริโภคนั้นส่วนใหญ่ไม่สามารถผลิตได้เอง และสินค้าหลายชนิดไม่มีความจำเป็นต่อการครองชีพเลย แต่ชาวบ้านต้องการซื้อเพื่อให้ทัดเทียมกับเพื่อนบ้าน สินค้าเหล่านี้ส่วนใหญ่มีราคาค่อนข้างแพง และชาวบ้านจำนวนมากต้องกู้เงินมาซื้อหรือซื้อในระบบเงินผ่อน จึงเกิดปัญหาหนี้สินจากการบริโภคตามมา
เพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น ประชาชนภายใต้การสนับสนุนของภาครัฐ ร่วมกันจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นมา โดยเริ่มจากสหกรณ์หาทุน ในปี พ.ศ. 2459 แล้วพัฒนาไปยังสหกรณ์รูปอื่นๆ หนึ่งในจำนวนนั้นคือ “สหกรณ์ออมทรัพย์” ที่เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2492 โดยมีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์หลักอยู่ที่ “การส่งเสริมการออม” โดยเปลี่ยนแนวความคิดในการออมจาก “ใช้ก่อนออม” (เมื่อมีรายได้เข้ามาก็จะนำไปจับจ่ายใช้สอยตามที่ต้องการก่อน เหลือจากการใช้จ่ายแล้วจึงนำมาออม) มาเป็น “ออมก่อนใช้” (เมื่อมีรายได้เข้ามาก็ให้หักส่วนหนึ่งเป็นเงินออมก่อน เหลือจากการออมแล้วจึงนำไปใช้จ่าย) และเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปได้จริงจึงกำหนดให้สมาชิกต้องออม (บังคับ) ในรูปของหุ้นอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน (ไม่สามารถถอนออกได้ ยกเว้นออกจากการเป็นสมาชิก) และห้ามหยุดการออมโดยไม่มีเหตุผล หลังจากนำเงินที่เหลือไปใช้จ่ายแล้วหากยังมีเงินเหลือ ก็อาจออมเพิ่มได้ทั้งในรูปของหุ้นและ/หรือเงินฝากที่สหกรณ์ออมทรัพย์เปิดให้บริการอยู่
อย่างไรก็ตาม ในช่วงชีวิตของสมาชิกอาจมีบางเวลาที่มีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย หรือต้องการซื้อทรัพย์สินที่จำเป็นแต่มีเงินไม่เพียงพอ ก็อาจเป็นเหตุให้ไม่สามารถออมได้อย่างต่อเนื่อง (ผิดเงื่อนไขของสหกรณ์) และบางครั้งอาจต้องกู้เงินจากแหล่งนอกระบบที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูงมาก ดังนั้น เพื่อให้การออมเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง ไม่สะดุด และเป็นหลักประกันที่ดีสำหรับอนาคตของสมาชิก สหกรณ์ออมทรัพย์จึงให้บริการเงินกู้ยืมแก่สมาชิกด้วย อย่างไรก็ตาม ใคร่ขอย้ำว่าการให้เงินกู้เป็นเพียงบริการเสริมที่สำคัญ ไม่ใช่บริการหลักอันดับหนึ่งอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจ
ในระยะที่ผ่านมา มีการขยายการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง ณ สิ้นปีบัญชี 2562 มีสหกรณ์ออมทรัพย์จัดตั้งและดำเนินการอยู่ทั้งสิ้น 1,375 แห่ง สมาชิกรวม 3.33 ล้านคน มีสินทรัพย์รวม 2.81 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้มีแหล่งที่มาจากทุนเรือนหุ้น 1.11 ล้านล้านบาท จากเงินรับฝากจากสมาชิก 1.05 ล้านล้านบาท นอกนั้นเป็นหนี้สินจากแหล่งอื่นๆ และเงินกองทุนต่างๆ สหกรณ์ได้นำสินทรัพย์ดังกล่าวมาบริหาร โดยเฉพาะการให้สมาชิกกู้ยืม ณ สิ้นปี 2562 มียอดเงินให้กู้และยังคงเหลืออยู่ที่สมาชิกประมาณ 2.12 ล้านล้านบาท
สหกรณ์ออมทรัพย์ “นักบุญ” หรือ “คนบาป” ของสังคมไทย?
แม้ว่าสหกรณ์จะเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่พบว่าผู้บริหารภาครัฐและประชาชนจำนวนมากยังมีมุมมองต่อสหกรณ์ออมทรัพย์ในเชิงลบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ
“หนี้สินภาคประชาชน”
สหกรณ์ออมทรัพย์ถูกมองว่าเป็นตัวสร้าง
“ปัญหาหนี้สิน”
ให้แก่ภาคประชาชน ตัวอย่างเช่น เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้บริหารคนสำคัญของประเทศได้ไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติและได้มีการพูดถึงปัญหาหนี้สินของตำรวจในทำนองว่ามีความรุนแรงมาก โดยชี้ว่ามีมูลหนี้สูงถึงกว่า 270,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่กู้ยืมมาจากสหกรณ์ออมทรัพย์ คำถามที่ตามมาก็คือ สหกรณ์ออมทรัพย์เป็นตัวสร้างปัญหาหนี้ภาคประชาชนจริงตามที่เขามองกันหรือไม่?
เพื่อตอบคำถามดังกล่าว ในที่นี้ขอแบ่งการพิจารณาออกเป็น 3 ประเด็น คือ (1) หนี้สินเป็นสิ่งเลวร้ายหรือไม่? (2) หนี้สินที่เป็นปัญหาคืออะไร? และ (3) สหกรณ์ออมทรัพย์เป็นสาเหตุที่ทำให้สมาชิกเป็นหนี้และมีปัญหาหนี้สินจริงหรือไม่?
ในประเด็นแรก ผมได้เคยอภิปรายไว้ในบทความเรื่อง
“หนี้สิน
: ของดีหรือสิ่งเลวร้าย?”
โดยสรุปก็คือหนี้สินเป็นได้ทั้งของดีและสิ่งเลวร้าย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของตัวหนี้สิน (อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาชำระคืน และเงื่อนไขอื่นๆ) เจ้าหนี้ (ในระบบ หรือ นอกระบบ) และ ตัวผู้เป็นหนี้ (ความสามารถในการหารายได้ และ พฤติกรรมการใช้จ่าย) จึงไม่ขอกล่าวถึงรายละเอียดในเรื่องนี้อีก
ประเด็นที่สอง หนี้สินที่เป็นปัญหาคืออะไร จริงๆ แล้วหนี้สินเป็นเรื่องธรรมดาของระบบทุนนิยม หลักการบัญชีทั่วไปเขียนไว้ชัดเจนว่า
“สินทรัพย์ = หนี้สิน + ทุน”
หนี้สินถือเป็นแหล่งที่มาที่สำคัญของสินทรัพย์ ดังนั้นในการพิจารณาเรื่องของหนี้สินต้องพิจารณาประกอบกับสินทรัพย์ด้วย คนบางคนเมื่อพิจารณาแต่เฉพาะยอดหนี้สินโดดๆ อาจดูเหมือนว่ามีหนี้สูงมาก เช่น 5 ล้านบาท แต่หากมองทางด้านสินทรัพย์ประกอบด้วยอาจพบว่าเมื่อเทียบกับสินทรัพย์แล้วหนี้สินดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่น ถ้าคนที่เรากล่าวถึงนี้ มีสินทรัพย์มากถึง 15 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3 เท่าของหนี้สิน หนี้สินของเขาก็ไม่น่าจะอยู่ในข่ายที่เป็นปัญหา ดังนั้นการพิจารณาเรื่องนี้จึงไม่ควร (ไม่สามารถ) ดูจากจำนวนหนี้สินเพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูประกอบกับทุนและสินทรัพย์โดยรวมของผู้เป็นหนี้ด้วย
อย่างนั้น “ปัญหาหนี้สิน” คืออะไรกันแน่ คำว่า “ปัญหาหนี้สิน” อาจมีการให้ความหมายหลายแบบ อย่างไรก็ตาม ที่น่าจะเหมาะสมในที่นี้คือ
“หนี้สินที่ไม่สามารถชำระคืนได้ตามกำหนดเวลา”
เมื่อพิจารณาตามความหมายนี้ ผู้มีปัญหาหนี้สินจริงๆ อาจมีสัดส่วนไม่มากนักเมื่อเทียบกับคนที่เป็นหนี้ทั้งหมด ตัวอย่างเช่น เมื่อประมาณ 3-4 ปี ที่แล้ว ขณะที่มีการพูดถึงปัญหาหนี้สินของบุคลากรทางการศึกษาว่ามีความรุนแรงมากเหลือเกิน แต่เมื่อลงไปดูข้อมูลจริงๆ พบว่าบุคลากรทางการศึกษาที่มีปัญหาหนี้สินรุนแรงจริงๆ เพียงประมาณ 1,700 คน จากฐานผู้กู้ทั้งหมดประมาณ 560,000 คน หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.3 เท่านั้น
ดังนั้นการกล่าวถึงปัญหาหนี้สินในปัจจุบันอาจอยู่ในลักษณะที่รุนแรงเกินความเป็นจริง ทั้งนี้น่าจะมีผลมาจากการตีความว่าหนี้สินทั้งหมด และ/หรือจำนวนคนที่เป็นหนี้ทั้งหมดคือขนาดของเป็นปัญหาหนี้สิน
ประเด็นที่สาม สหกรณ์ออมทรัพย์เป็นตัวที่ทำให้สมาชิกเป็นหนี้และมีปัญหาหนี้สินจริงหรือไม่? หากย้อนไปในส่วนแรกๆ ของบทความนี้ ผมได้เท้าความถึงพัฒนาการของหนี้สินในประเทศไทยและชี้ให้เห็นว่าปัญหาหนี้สินเกิดขึ้นมาก่อนการเกิดขึ้นของขบวนการสหกรณ์ และสหกรณ์ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขหนี้สินที่เป็นปัญหา ดังนั้นการที่เห็นหนี้กับสหกรณ์ออมทรัพย์อยู่ด้วยกันตลอดเวลาแล้วเหมาว่าสหกรณ์เป็นตัวสร้างหนี้สินให้เกิดขึ้นกับสมาชิกคงไม่ถูกต้อง
ที่กล่าวมาจะพออธิบายได้ว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้สมาชิกเป็นหนี้ แต่เป็นไปได้หรือไม่ที่สหกรณ์ออมทรัพย์จะเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้สมาชิกมีปัญหาหนี้สิน? เรื่องนี้คงต้องให้ความเป็นธรรมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ด้วย โดยปกติสมาชิกส่วนใหญ่ของสหกรณ์ออมทรัพย์ไม่ใช่ผู้มีฐานะดี จำนวนมากยังมีความเดือดร้อนทางการเงิน ทั้งนี้ด้วยแนวคิดที่เน้นการให้สมาชิกออมเงิน และนำเงินที่ออมได้มาบริหารให้ผู้ที่เดือดร้อนได้กู้ยืมไปใช้ตามความจำเป็น เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตและสะสมทรัพย์สินได้ตามศักยภาพของแต่ละคน สำหรับเงินกู้ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ให้บริการนั้น ส่วนใหญ่จะคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำกว่า และ มีเงื่อนไขการค้ำประกันและการชำระหนี้ที่ผ่อนปรนกว่าแหล่งเงินกู้อื่น
ดังนั้นสหกรณ์ออมทรัพย์จึงไม่ควรถูกล่าวหาว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สมาชิกมีปัญหาหนี้สิน
อย่างไรก็ตามภาครัฐและคนภายนอกอาจมองว่าสหกรณ์ให้วงเงินกู้มากเกินไป ทำให้เงินเดือนเหลือรับหลังจากหักชำระหนี้แล้วของบางคนน้อยเกินไป อาจทำให้เกิดความเดือนร้อนในการครองชีพได้ สิ่งที่ภาครัฐต้องเข้าใจก็คือสมาชิกแต่ละคนมีครอบครัวซึ่งบางส่วนก็เป็นผู้มีรายได้ที่สามารถนำมาใช้จ่ายในครอบครัวได้ นอกจากนั้นบางส่วนก็มีรายได้เสริมนอกเหนือจากเงินเดือนอีกด้วย อย่างไรก็ตามก็ต้องยอมรับว่าสมาชิกบางส่วนมีการกู้วนซ้ำ (เมื่อชำระหนี้เดินแล้วประมาณ 1-2 เดือน ก็ทำเรื่องกู้ใหม่เพื่อชำระหนี้เดิมทั้งหมดแล้วเอาส่วนต่างมาใช้จ่าย) ทั้งนี้ การกู้วนซ้ำอาจเกิดจากความจำเป็น หากไม่ทำหรือสหกรณ์ไม่ยอมให้ทำ อาจทำให้คนกลุ่มนี้ต้องหันไปใช้บริการหนี้นอกระบบ
มีอดีตผู้บริหารสถานศึกษาคนหนึ่งเคยเล่าว่า ช่วงหนึ่งของชีวิต เขาและภรรยาต้องวางแผนการกู้วนซ้ำจากสหกรณ์อยู่หลายปี เนื่องจากในเวลานั้นลูกๆ กำลังเรียนมหาวิทยาลัย มีค่าใช้จ่ายสูงมาก ถ้าสหกรณ์ไม่ให้กู้วนซ้ำเขาคงต้องไปพึ่งเงินกู้นอกระบบที่อาจทำให้ต้องตกอยู่ในวงจรอุบาทว์ของหนี้นอกระบบอย่างไม่มีวันหลุดพ้น ปัจจุบันลูกๆ เรียนจบหมดแล้ว ทำงานแล้ว และ เขาไม่ได้กู้วนซ้ำอีกแล้ว
มีคนบอกว่าการพิจารณาว่าสหกรณ์เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาหนี้สินจริงหรือไม่? อาจทำโดย “การตั้งคำถามว่าถ้าไม่มีสหกรณ์แล้วปัญหาหนี้สินของสมาชิกจะหมดไปใช่หรือไม่” ถ้าตอบว่า
“ใช่”
แสดงว่าสหกรณ์เป็นสาเหตุของปัญหาหนี้สินจริง แต่ถ้าคำตอบว่า
“ไม่ใช่”
แสดงว่าสหกรณ์ไม่ใช่สาเหตุของปัญหาหนี้สิน ... “ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงสามารถตอบคำถามนี้ได้ไม่ยากนัก”
ถึงตรงนี้ ท่านยังคิดว่าสหกรณ์เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาหนี้สินหรือเป็น
“คนบาป”
ของสังคมไทยอีกหรือไม่?
นอกจากนั้น ยังมีข้อมูลว่าหลายสหกรณ์มีบทบาทอย่างชัดเจนในการแก้ปัญหาหนี้สินให้กับผู้ที่เป็นสมาชิกด้วย ตัวอย่างเช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบการสามารถลดภาระดอกเบี้ยให้กับสมาชิกที่เป็นผู้ใช้แรงงาน ซึ่งโดยทั่วไปต้องเสียแก่นายทุนเงินกู้นอกระบบในอัตราที่สูงมาก (เช่น ร้อยละ 20 ต่อเดือน) ขณะที่สหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบการโดยทั่วไปคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำกว่ามาก (เช่น ร้อยละ 1 ต่อเดือน) เป็นผลให้แรงงานสามารถพึ่งตนเองและลืมตาอ้าปากได้ และ ที่สำคัญคือทำให้ยืนอยู่ในสังคมนี้ได้อย่างมีศักดิ์ศรี
นอกจากช่วยแก้ปัญหาหนี้สินแล้ว ยังพบว่าสหกรณ์ออมทรัพย์จำนวนมากได้วางระบบและให้สวัสดิการแบบครบวงจรชีวิตแก่สมาชิก เช่น ดูแลช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลบางส่วนแก่สมาชิกที่เจ็บป่วย ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้สูงอายุ รวมไปถึงบางสหกรณ์กำลังพิจารณาที่จะพัฒนาระบบบำนาญให้แก่สมาชิกอีกด้วย
ถึงตรงนี้ น่าจะถือได้ว่าสหกรณ์นอกจากจะไม่ใช่ “คนบาป” แล้ว ยังเป็นองค์กรที่มีประโยชน์ หรือ อาจกล่าวได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของ
“นักบุญ”
ในสังคมไทยได้
ส่งท้ายก่อนจาก
จากที่กล่าวมาพอสรุปได้ว่านอกจากไม่ได้เป็น “คนบาป” แล้วยังอาจถือว่าสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม “นักบุญ” ของสังคมไทยได้ด้วย อย่างไรก็ตาม เกิดคำถามตามมาว่าถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว
“ทำไมวันนี้ภาครัฐถึงได้ออกมาตรการต่างๆ ที่ทำให้ขบวนการสหกรณ์ออมทรัพย์อ่อนแอและหมดคุณค่าลง?
ประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพิจารณาหาคำตอบกันต่อไป... แล้วเจอกันครับ
กิจกรรมล่าล่าสุด
11 ม.ค. 64
คณะกรรมการสันนิบาตสหกรณ์จังหวัดนครปฐม
134 ครั้ง
11 ม.ค. 64
ศิลปะการเจรจาต่อรองและติดตามหนี้ค้างชำระ รุ่นที่ 4
226 ครั้ง
11 ม.ค. 64
สมาชิกสหกรณ์เข้มแข็ง สหกรณ์ยั่งยืน รุ่นที่ 4
161 ครั้ง
11 ม.ค. 64
สสจ.ขอนแก่นจัดอบรมกฎหมายสหกรณ์ทุกประเภท
540 ครั้ง
11 ม.ค. 64
สอ.ศธ. ร่วมสัมมนาและประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565
412 ครั้ง
ดูทั้งหมด
เราใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานจากการเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราและเพื่อสนับสนุนประสิทธิภาพในการนำเสนอข้อมูลและ เนื้อหาต่างๆ ที่ผู้เข้าใช้งานจะได้รับชม
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
โดยทางเว็บไซต์จะสร้างไฟล์ข้อมูลที่มีขนาดเล็กไว้ในอินเตอร์เน็ตเบราว์เซอร์ของผู้เข้าใช้งาน เพื่อเก็บข้อมูลการเข้าใช้งานของท่าน รวมถึงเพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการต่างๆ ภายในเว็บไซต์ของเรา และเมื่อผู้เข้าใช้งานกลับมาเยี่ยมชม หรือกลับเข้ามาใช้บริการในครั้งต่อไป แต่การเก็บข้อมูลด้วยคุกกี้จะไม่เก็บข้อมูลส่วนตัวใดๆของท่าน การยอมรับนี้จะไม่ทำให้เครื่องของท่านติดไวรัส หรือมัลแวร์แต่อย่างใด ทั้งนี้เพื่อทำการวิเคราะห์ซึ่งอาจทำหรือให้บริการโดยบุคคลอื่นที่ให้บริการหรือได้รับมอบหมายให้กระทำแทนในนามของเรา เช่น Google Analytic เป็นต้น เมื่อผู้เข้าใช้งานมีการกลับมาเยี่ยมชมเว็บไซต์โดยไม่เปลี่ยนแปลงการตั้งค่าคุกกี้บนอินเตอร์เน็ตเบราส์เซอร์ อุปกรณ์ของผู้ใช้งานจะยอมรับคุ๊กกี้อัตโนมัติในการเข้าใช้งานในครั้งต่อไป ซึ่งถ้าหากผู้เข้าใช้งานไม่ต้องการให้คุกกี๊ทำการรวบรวมข้อมูล ผู้ใช้งานสามารถเลือกเปลี่ยนแปลง หรือตั้งค่าการยอมรับคุกกี๊ได้ที่เมนู "การตั้งค่า" ของอินเตอร์เน็ตเบราว์เซอร์ที่ใช้งานอยู่
ยอมรับ